‘เบนท์ลีย์’รุ่นส่งท้าย ก่อนอำลา
ทุกงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา และสำหรับแบรนด์รถหรูของประเทศอังกฤษอย่าง เบนท์ลีย์ (Bentley) ก็เช่นกัน ที่จะต้องมาถึงวันนี้ ด้วยการเปิดตัวรถแบบคูเป้แกรนด์ทัวริ่งรุ่นพิเศษ แบบลิมิเต็ดโปรดักชั่น “เบนท์ลีย์ มุลลิเนอร์ บาทัวร์” (Bentley Mulliner Batur) ที่จะสร้างขึ้นเพียง 18 คัน ก่อนที่จะปิดสายพานการผลิต!
แต่ช้าก่อน! ที่บอกว่าเลิกนั้น ก็คือ การปิดสายพานการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในขนาดยักษ์ อย่างเครื่อง 6.0 ลิตร W12 เทอร์โบ ที่ใช้กันมาหลายทศวรรษเท่านั้น แบรนด์ “เบนท์ลีย์” ยังคงไปได้ดีเพียงแต่จะเปลี่ยนทิศทางการพัฒนารถยนต์ไปสู่ยุคของพลังงานใหม่อย่างพลังงานไฟฟ้า ที่พวกเขาตั้งเป้าว่าจะเปิดตัวเบนท์ลีย์ ที่ใช้ระบบไฟฟ้าล้วนภายในปี 2025 ที่จะมาถึงในอีกไม่นานนี้
สำหรับชื่อ เบนท์ลีย์ มุลลิเนอร์ บาทัวร์ นั้น แน่นอนว่าชื่อแรก ก็คือชื่อแบรนด์ ส่วนชื่อที่สอง ก็คือชื่อที่มีที่มาจากบริษัทต่อตัวถังที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อย่าง “เอช เจ มุลลิเนอร์” (H.J.Mulliner) ที่เริ่มต้นกิจการในปี 1897 และมีรากฐานมาจากโรงงานต่อรถม้าตั้งแต่ปี 1760 โดยในปัจจุบัน มุลลิเนอร์ ได้ขายชื่อให้กับทางเบนทลีย์ เพื่อใช้เป็นชื่อสำหรับหน่วยงานประกอบรถพิเศษของเบนทลีย์ ส่วนชื่อที่สาม “บาทัวร์” นั้นเป็นชื่อรุ่นของรถสปอร์ตคันนี้ โดยทางเบนท์ลีย์ กล่าวว่า เป็นชื่อของ ทะเลสาบบนเกาะบาหลี
รูปร่างสัดส่วนและรายละเอียดทางการออกแบบของรถรุ่นนี้ ว่ากันว่าเป็นการเผยให้เห็นถึงแนวทางการออกแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ฉีกกรอบไปจากรถรุ่นก่อนๆ ของเบนท์ลีย์ ที่เราคุ้นเคย เริ่มต้นด้วยสัดส่วนที่มองแล้วคล้ายกับสิงห์หมอบ ที่ทางผู้ออกแบบเรียกว่า “Resting Beast” ที่เมื่อมองจากด้านข้างจะดูคล้ายกับสิงโตคู้ตัวหมอบซุ่มอยู่กับพื้น ก้นโด่งขึ้น หัวแนบพื้น รอจังหวะที่จะกระโจนออกไปขย้ำเหยื่อ โดยแสดงออกผ่านทางซุ้มล้อหลัง ที่ดูคล้ายกับกล้ามเนื้อของช่วงสะโพก ที่แนบกับกับลำตัวที่ดูมีการคอดเกร็งในส่วนท้อง จากการใช้เส้นตรงปาดทางด้านล่างให้เห็นเฉดที่แตกต่างของแสงเงา อย่างชัดเจน ดูไปดูมา ชวนให้นึกถึงเหล่ามัสเซิลคาร์จากอเมริกามากกว่าภาพของเบนท์ลีย์ที่คุ้นเคยคำพูดจาก สล็อตเว็บตรง
ส่วนการออกแบบพื้นผิวนั้นก็แตกต่างออกไปจากเดิมมาก เพราะแต่เดิมนับตั้งแต่รุ่นดึกดำบรรพ์ เราจะคุ้นตากับการที่ เบนท์ลีย์ จะมาพร้อมกับพื้นผิวที่โค้งมน แต่กับ บาทัวร์ แล้วมันกลับต่างออกไป เพราะมันมีการใช้เส้นสายที่เป็นสันคม และในส่วนของรายละเอียดการออกแบบนั้น มีการใช้ดวงโคมไฟหน้าและท้าย ที่เป็นทรงหยดน้ำปลายเรียวเล็กแหลม สวนทางกับทิศทางแบบอนุรักษนิยมเดิมๆที่ เน้นเส้นโค้ง และวงกลม ที่จำลองภาพของดวงโคมไฟที่กลมโตตลอดมา
คำถามอยู่ที่ว่า ทำไมต้องใช้ไฟดวงกลมโต? สิ่งนี้ต้องย้อนอดีตไปถึงยุคเริ่มแรกของการแข่งรถทางไกล ดวงโคมไฟหน้าที่ใหญ่ แสดงให้เห็นถึงว่ารถสามารถส่องไฟไปได้ไกล ซึ่งสอดคล้องกับรถที่วิ่งได้เร็วกว่ารถปกติ แต่ในยุคที่เทคโนโลยีไฟส่องถนนมีขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพมากขนาดนี้แล้ว ทำไมยังต้องยึดติดกับโคมไฟดวงกลมโต (แต่ซ่อนไฟเล็กๆ ไว้ด้านใน) กันอีกเล่า? ทั้งหมดที่ทำๆ กันมานั้น ก็เป็นเพียงการสืบสานหน้าตาแบบประเพณีนิยมเอาไว้เท่านั้นเอง
ส่วนงานออกแบบภายในก็ยังคงไว้ซึ่งทิศทางออกแบบของรุ่น คอนติเนนทัล จีที ดั้งเดิม เพียงแต่เลือกใช้วัสดุหรูหรา พิสดารกว่ารถทั่วไป โดยบนแผงคอนโซลจะมีการแกะสลักด้วยเลเซอร์ เป็นลายความถี่ของเสียงเครื่องยนต์ W12 เพื่อให้ระลึกถึงเอกลักษณ์ของเครื่องสันดาปภายในนั่นเอง
ต้องบอกตามตรงว่า ยังไม่ชินตากับทิศทางใหม่นี้ และรู้สึกสบายตากับงานออกแบบดั้งเดิมมากกว่า และในขณะเดียวกันก็มองว่า สำหรับเวอร์ชั่นที่จะผลิตจริงก็คงจะต้องมีการปรับรายละเอียดกันอีกไม่น้อย และแม้ว่ารูปทรงนี้จะถูกพัฒนาไปจนกลายเป็นรูปทรงของรถไฟฟ้าในรุ่นต่อไป รูปแบบของรถที่หน้ายาว ท้ายสั้น ก็อาจจะยังคงอยู่ไปเช่นนี้ก็เป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องบอกว่า อนาคตยังไม่แน่นอนต้องรอดูกันต่อไป.
โดย : ภัทรกิติ์ โกมลกิติ